เปิดรับสมัครสมาชิก เข้าใช้งานเว็บไซต์ ผ่าน SmartPhone พันธ์ R...ตะวันใหม่ Art...ดี
เขียนโดย : ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556



สรรค์สร้างงานหัตถศิลป์ ตอบแทนคุณแผ่นดิน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เดินตามรอยพ่อแบบพอเพียง



“รางวัลชนะเลิศ” ได้รับเงินรางวัลรวม 390,000 บาท จากโครงการ "กรุงไทย ยุววาณิช" ชีวิตที่เลือกได้ ครั้งที่ 11
บริษัท พันธุ์ R...ตะวันใหม่ จำกัด ธุรกิจ “คันธารราฐโคมไฟจากหญ้าแฝก” จากการสนับสนุนของ ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี


      ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ "คันธารราฐโคมไฟจากหญ้าแฝก" เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในท้องถิ่น และเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านงานหัตถกรรม



แนวคิดการดำเนินธุรกิจ


                หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  ปัจจุบันภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง”  โดยจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง คือ  การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น  เพื่อเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการบริโภคอย่างพออยู่พอกินไปจนถึงขั้นแปรรูปสู่ภาคอุตสาหกรรมในครัวเรือน  สร้างงาน  สร้างรายได้  สร้างอาชีพ บนพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชน  หญ้าแฝกควั่นเกลียวก็นับได้ว่าเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์จากชุมชน  ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน  ก่อให้เกิดการสร้างงาน  สร้างรายได้  สร้างอาชีพให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน  การปลูกหญ้าแฝกตามโครงการพระราชดำริ  ช่วยในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ  ลดภาวะโลกร้อน แก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม  นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การปลูกหญ้าแฝกของเกษตรกรจำเป็นต้องมีการตัดแต่งต้นหญ้าแฝก โดยต้องตัดแต่งใบอย่างสม่ำเสมอทุก 3-4 เดือน เพื่อป้องกันมิให้หญ้าแฝกออกดอก ช่วยให้หญ้าแฝกแตกหน่อเพิ่มขึ้น และยังช่วยควบคุมไม่ให้หญ้าแฝกสูงเกินไป ทำให้หญ้าแฝกชิดติดกันเป็นกำแพงแน่นและทำหน้าที่กรองตะกอนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  การนำใบหญ้าแฝกที่ได้จากการตัดตกแต่งมาควั่นเกลียวเชือก  ซึ่งเป็นวัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านหัตถศิลป์และพุทธศิลป์รูปแบบใหม่  คือ  คันธารราฐโคมไฟจากหญ้าแฝก  นอกจากช่วยสร้างงานแก่ชุมชนสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วยังเป็นการสืบสานโครงการตามพระราชดำริของในหลวงอีกด้วย

                หลักการออกแบบและผลิตคันธารราฐโคมไฟจากหญ้าแฝก  เราใช้ทุนทางปัญญา ร่วมกับ ทักษะความคิดสร้างสรรค์  โดยยึดแนวคิดทฤษฎีที่ว่า  การออกแบบ สามารถนำไปผลิตและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์  ด้านงานหัตถศิลป์ ในรูปแบบที่แปลกใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้”  โคมไฟเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ใช้ประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัย  สื่อถึงรสนิยมของผู้ใช้  การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์โคมไฟจากหญ้าแฝกเป็นการผลิตที่สามารถสื่อถึงอารมณ์สุนทรีภาพทางด้านความรู้สึก ความเชื่อ วัฒนธรรม ที่คงคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวพุทธ โดยสื่อออกมาในลักษณะของพระพุทธรูปแบบคันธารราฐ

                ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  คติในการสร้างพระพุทธรูปยังไม่มีการทำเป็นรูปมนุษย์ ต่อมาเมื่อราชวงศ์เมารยะถึงกาลเสื่อมลง  แคว้นคันธาระซึ่งในปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสินธุเรื่อยไปไปจนถึงลุ่มน้ำคาบูลตอนใต้ได้มีการเปลี่ยนผู้ปกครองกันมาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์ กุษาณะ ได้ทรงเป็นพุทธมามกะและในสมัยนี้เอง คือ ราว  พ.ศ. 600 กว่า พระพุทธรูปองค์แรกก็กำเนิดขึ้นในโลกเป็นต้นกำเนิดของศิลปแบบคันธาระ 
( Ghandara )  หรือในบ้านเราเรียกว่า คันธารราฐ นั่นเอง  ศิลปแบบคันธาระได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งเคยกรีฑาทัพมาตั้งแต่ในราว 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล การสร้างพระพุทธรูปที่นี่จึงเป็นการผสมผสานระหว่างกรีกโรมัน และอินเดียโบราณที่สัมพันธ์กับมหาปุริสลักษณะ  32 ประการของพระพุทธเจ้า อย่างลงตัว พระพุทธรูปคันธาระจึงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นงานพุทธศิลป์ที่งามที่สุด  ทั้งยังมีอายุที่สูงมาก  คือ  ราว  2000  ปี ได้รับความนิยมเป็นสากลจากนักสะสมและพิพิธภัณฑ์นานาชาติจึงมีราคาสูงมาก  ลักษณะสำคัญทางศิลปะของพระคันธารราฐ คือ พระพักตร์คล้าย  เทพอพอลโล  มีเส้นพระเกศาหยิกสลวย  (ยังไม่เป็นก้นหอยเหมือนในยุคหลัง)  มีรัศมี  (Halo)   อยู่หลังพระเศียร  ตามความเชื่อของกรีกที่ทำรูปปั้นเทพต่างๆ ห่มผ้าคลุมแบบริ้วธรรมชาติ  มีอุณาโลมระหว่างคิ้ว  มีอุษณีษะศีรษะ (กะโหลกโป่งตอนบน)  พระกรรณยาว  พระเนตรเหลือบมองต่ำ  เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา






ผลตอบแทนความสำเร็จ
ศึกษาดูงานประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน









แสดงความคิดเห็น

Subscribe to Posts | Subscribe to Comments

- Copyright © ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาแบบครบวงจร วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ปรับปรุงแก้ไขโดย โสภณัส แซ่ฝ้า -

หน้านี้แสดงผลได้ดีกับขนาด 1360 x 768 Pixels , Google Chrome or Firefox